10 กรกฎาคม 2552

เมรุลอย

เมรุลอยลุงแถม ที่สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตร

บ่ายระอุจางไปพร้อมกับฝนปราย พื้นอิฐบล็อกหน้าอุโบสถของวัดโมลี ย่านจังหวัดนนทบุรี ยังเปียกปรอยเป็นจ้ำๆ ละอองโปรยของฝนหลงทิศกลางเดือนกุมภาพันธ์แสนอบอ้าวเช่นนี้ ขับไล่ความแสบร้อนจากตะวันเดือดได้บ้าง แม้จะได้แค่เพียงชั่วคราวไม่เกินสิบหน่วยนาที แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้อาทิตย์อำมหิตย์เผาแผ่นหลังและรังแกเหล่าคนงานของประทีป ฤกษ์อุโฆษแต่เพียงฝ่ายเดียว

ชายวัยกลางคน เสียงเหน่อตามแบบฉบับลูกทุ่งลุ่มอยุธยาผู้นี้ คือทายาทรุ่นที่สามของอาชีพเก่าแก่ของท้องถิ่น อาชีพสร้างเมรุลอย ถ้าเรียกให้หรูสักนิดก็คงเป็น ฌาปนสถานชั่วคราว หรืออย่างถ้าชาวบ้านเข้าใจกันก็คงเป็น เมรุชั่วคราว ถอดประกอบได้ “เดิมที ปู่เขาทำ เผาเกจิแถวบ้าน ต่อมารุ่นพ่อเขาทำ แล้วก็เริ่มทำแต่นั้น” ประโยคสั้นๆ กระชับแต่ได้ใจความทำให้ผมเข้าใจว่าคู่สนทนาของผมครานี้พูดไม่เก่ง

ช่างก่อสร้างเมรุลอย ต้องปีนขึ้นไปบนที่สูง

“ทำไม ต้องเมรุลอยด้วย” ผมถามอย่างงั่งๆ ประทีปอธิบายว่า นั่นเพราะเจ้าภาพอยากจะจัดงานให้สมเกียรติสมฐานะกับผู้ตายรวมไปถึงตนเอง “กระแสมันมาแรงเมื่อปีที่แล้ว หลังจากงานพระพี่นาง” เขาขยายความ

เมรุลอย คือเมรุเผาศพที่สร้างขึ้นต่างหาก แยกจากเมรุที่ใช้รวมของ วัด ความวิจิตรก็แล้วแต่เจ้าภาพและกำลังทรัพย์ ซึ่งเมรุของประทีป ก็สนนราคาอยู่ราวแสนต้นๆ ซึ่งอาจมีปรับเปลี่ยนไปตามระยะทางจากอยุธยา ซึ่งธรรมเนียมการใช้เมรุลอยนี้ ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อเจ้าขุนมูลนายสิ้นพระชนม์หรือเสียชีวิตลง มักจะมีการก่อสร้างเมรุสำหรับเผาศพให้เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งในยุคต่อมา ชนชั้นราษฎ์ก็รับเอาประเพณีดังกล่าว โดยเห็นว่า สมเกียรติสมฐานะของผู้ตาย อีกทั้งเป็นหน้าตาของผู้จัดงานอีกด้วย

คุณประทีป ฤกษ์อุโฆษ ทายาทเมรุลอยรุ่นสาม

เสื้อยืดขาดปรุของบางคนถูกเหงื่อกัดจนพรุนไปหมดแล้ว รอยสกรีนจางซีด “เมรุลุงแถม” (ชื่อคุณพ่อของคุณประทีป) นั่นก็บอกพะยี่ห้อได้ว่ามันรับใช้เจ้าของมาจนควรจะปลดประจำการได้แล้ว “ร้อนเนอะพี่เนอะ” ผมทักทายกับช่างไม้คนหนึ่ง เหงื่อชุ่มบนหน้าผากของเขาไหลหยดลงไปตามพื้น

สิบแปดชีวิตมะรุมมะตุ้มวุ่นวายไปกับการต่อไม้ตอกตะปู บ้างก็แบกหามคานเสาจนเนื้อตัวมอมแมม บ้างก็ยกตั้งเสาเอกกันจนตัวลอย “เดี๋ยวมืดมองไม่เห็นก็เลิกแล้วครับ มองไม่เห็นเลข” คนงานพูดถึงหมายเลขกำกับตำแหน่งชิ้นส่วนเมรุ น่าตกใจที่สิ่งปลูกสร้างไอเดียชาวบ้านชิ้นนี้ มีระบบการจัดการที่คล้ายคลึงกับงานออกแบบทางวิศวกรรม ความซับซ้อนของโครงสร้างผนวกเข้ากับความงดงามของลวดลายและสถาปัตยกรรมแบบ ไทยๆได้อย่างกลมกล่อม “ลวดลายพวกนี้เราก็คิดกัน ช่วยกันหมด” ประทีปเล่าถึงที่มาของแบบร่างตัวเมรุ “เดี๋ยวรอประกอบเสร็จ ติดไฟจะสวยกว่านี้” เขาอวด

หลอดไฟจำนวนมหาศาลที่ต้องเปลี่ยนอยู่เสมอๆ

การก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

แดดจ้าเริ่มแผลงฤทธิ์อีกครั้ง คนงานรุ่นลุงคนหนึ่งนั่งหน้ามืดอยู่ในร่มไม้ ผิวหนังดำมะเมื่อมของเขาเล่าให้ผมฟังถึงความทดท้อกับสภาพอากาศและสังขารที่ รีบร้อนจนไม่ทันตั้งตัว “หน้ามืด พักหน่อย” เขาตักน้ำจากกระติกขึ้นซด จากนั้นจึงผุดลุก หมายจะยกเอาไม้คานหนักขึ้นเมรุสูงแต่คนเดียว “มาลุง ผมช่วย” ผมสอดเข้าไปรับ ชายชราไม่ว่ากระไร รองเท้าแตะช้างดาวเก่าครึของเขาย่างขึ้นสู่จุดสูงสุดของเมรุ เมรุลอยของเจ้าภาพฐานะเศรษฐี ที่ยินดีจ่ายไม่อั้น เพื่องานศพที่งดงามที่สุด

ภาพจาก LC-A+Kodak Ektrachrome E100VS EXPIRED CROSS PROCESS

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น