10 กรกฎาคม 2552

เมรุลอย

เมรุลอยลุงแถม ที่สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตร

บ่ายระอุจางไปพร้อมกับฝนปราย พื้นอิฐบล็อกหน้าอุโบสถของวัดโมลี ย่านจังหวัดนนทบุรี ยังเปียกปรอยเป็นจ้ำๆ ละอองโปรยของฝนหลงทิศกลางเดือนกุมภาพันธ์แสนอบอ้าวเช่นนี้ ขับไล่ความแสบร้อนจากตะวันเดือดได้บ้าง แม้จะได้แค่เพียงชั่วคราวไม่เกินสิบหน่วยนาที แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้อาทิตย์อำมหิตย์เผาแผ่นหลังและรังแกเหล่าคนงานของประทีป ฤกษ์อุโฆษแต่เพียงฝ่ายเดียว

ชายวัยกลางคน เสียงเหน่อตามแบบฉบับลูกทุ่งลุ่มอยุธยาผู้นี้ คือทายาทรุ่นที่สามของอาชีพเก่าแก่ของท้องถิ่น อาชีพสร้างเมรุลอย ถ้าเรียกให้หรูสักนิดก็คงเป็น ฌาปนสถานชั่วคราว หรืออย่างถ้าชาวบ้านเข้าใจกันก็คงเป็น เมรุชั่วคราว ถอดประกอบได้ “เดิมที ปู่เขาทำ เผาเกจิแถวบ้าน ต่อมารุ่นพ่อเขาทำ แล้วก็เริ่มทำแต่นั้น” ประโยคสั้นๆ กระชับแต่ได้ใจความทำให้ผมเข้าใจว่าคู่สนทนาของผมครานี้พูดไม่เก่ง

ช่างก่อสร้างเมรุลอย ต้องปีนขึ้นไปบนที่สูง

“ทำไม ต้องเมรุลอยด้วย” ผมถามอย่างงั่งๆ ประทีปอธิบายว่า นั่นเพราะเจ้าภาพอยากจะจัดงานให้สมเกียรติสมฐานะกับผู้ตายรวมไปถึงตนเอง “กระแสมันมาแรงเมื่อปีที่แล้ว หลังจากงานพระพี่นาง” เขาขยายความ

เมรุลอย คือเมรุเผาศพที่สร้างขึ้นต่างหาก แยกจากเมรุที่ใช้รวมของ วัด ความวิจิตรก็แล้วแต่เจ้าภาพและกำลังทรัพย์ ซึ่งเมรุของประทีป ก็สนนราคาอยู่ราวแสนต้นๆ ซึ่งอาจมีปรับเปลี่ยนไปตามระยะทางจากอยุธยา ซึ่งธรรมเนียมการใช้เมรุลอยนี้ ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อเจ้าขุนมูลนายสิ้นพระชนม์หรือเสียชีวิตลง มักจะมีการก่อสร้างเมรุสำหรับเผาศพให้เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งในยุคต่อมา ชนชั้นราษฎ์ก็รับเอาประเพณีดังกล่าว โดยเห็นว่า สมเกียรติสมฐานะของผู้ตาย อีกทั้งเป็นหน้าตาของผู้จัดงานอีกด้วย

คุณประทีป ฤกษ์อุโฆษ ทายาทเมรุลอยรุ่นสาม

เสื้อยืดขาดปรุของบางคนถูกเหงื่อกัดจนพรุนไปหมดแล้ว รอยสกรีนจางซีด “เมรุลุงแถม” (ชื่อคุณพ่อของคุณประทีป) นั่นก็บอกพะยี่ห้อได้ว่ามันรับใช้เจ้าของมาจนควรจะปลดประจำการได้แล้ว “ร้อนเนอะพี่เนอะ” ผมทักทายกับช่างไม้คนหนึ่ง เหงื่อชุ่มบนหน้าผากของเขาไหลหยดลงไปตามพื้น

สิบแปดชีวิตมะรุมมะตุ้มวุ่นวายไปกับการต่อไม้ตอกตะปู บ้างก็แบกหามคานเสาจนเนื้อตัวมอมแมม บ้างก็ยกตั้งเสาเอกกันจนตัวลอย “เดี๋ยวมืดมองไม่เห็นก็เลิกแล้วครับ มองไม่เห็นเลข” คนงานพูดถึงหมายเลขกำกับตำแหน่งชิ้นส่วนเมรุ น่าตกใจที่สิ่งปลูกสร้างไอเดียชาวบ้านชิ้นนี้ มีระบบการจัดการที่คล้ายคลึงกับงานออกแบบทางวิศวกรรม ความซับซ้อนของโครงสร้างผนวกเข้ากับความงดงามของลวดลายและสถาปัตยกรรมแบบ ไทยๆได้อย่างกลมกล่อม “ลวดลายพวกนี้เราก็คิดกัน ช่วยกันหมด” ประทีปเล่าถึงที่มาของแบบร่างตัวเมรุ “เดี๋ยวรอประกอบเสร็จ ติดไฟจะสวยกว่านี้” เขาอวด

หลอดไฟจำนวนมหาศาลที่ต้องเปลี่ยนอยู่เสมอๆ

การก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

แดดจ้าเริ่มแผลงฤทธิ์อีกครั้ง คนงานรุ่นลุงคนหนึ่งนั่งหน้ามืดอยู่ในร่มไม้ ผิวหนังดำมะเมื่อมของเขาเล่าให้ผมฟังถึงความทดท้อกับสภาพอากาศและสังขารที่ รีบร้อนจนไม่ทันตั้งตัว “หน้ามืด พักหน่อย” เขาตักน้ำจากกระติกขึ้นซด จากนั้นจึงผุดลุก หมายจะยกเอาไม้คานหนักขึ้นเมรุสูงแต่คนเดียว “มาลุง ผมช่วย” ผมสอดเข้าไปรับ ชายชราไม่ว่ากระไร รองเท้าแตะช้างดาวเก่าครึของเขาย่างขึ้นสู่จุดสูงสุดของเมรุ เมรุลอยของเจ้าภาพฐานะเศรษฐี ที่ยินดีจ่ายไม่อั้น เพื่องานศพที่งดงามที่สุด

ภาพจาก LC-A+Kodak Ektrachrome E100VS EXPIRED CROSS PROCESS

01 กรกฎาคม 2552

ยักษ์ใหญ่ไล่คนเล็ก

เด็กๆที่โรงเรียนในชุมชนมาร่วมงานกัน

ที่ยงวันนั้นอากาศร้อนอบอ้าว แดดร้อนระอุจ้าจัดจนแทบจะพาเอาน้ำทะเลระเหยกลายเป็นไอ ลมผ่าวพัดหอบเม็ดทรายปลิวคว้าง บนลานสนามริมหาดทรายโรงไฟฟ้าขนอมวันนั้น คลาคล่ำไปด้วยชาวบ้านและเด็กนักเรียนจากชุมชนรอบๆ

เนื่องในวันชุมชนสัมพันธ์ระหว่างโรงไฟฟ้ากับชาวบ้านย่านถิ่น เจ้าภาพโรงไฟฟ้า เลี้ยงดูปูเสื่อชาวบ้านด้วยโต๊ะจีนอย่างดี เพียบพร้อมด้วยอาหารและผลไม้ ขณะเดียวกันก็จัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน

งานเด่นในปีนี้เป็นการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์ลงสู่ทะเล เพื่อสร้างแนวปะการังเทียม ตู้คอนเทนเนอร์เหล็กหลากสีเรียงรายริมหาดราวอนุสาวรีย์แห่งมิตรภาพ เคลือบโดยภาพวิจิตรอันรังสรรค์จากฝีแปรงของเด็กๆลูกหลานชุมชนแถบนั้น บ้างก็วาดเป็นทะเล บ้างก็วาดภาพใต้น้ำ บ้างก็วาดปะการัง แต่สิ่งที่มีในภาพทุกภาพคือ โลมาสีชมพูอันเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนย่านนี้
ตู้คอนเทนเนอร์ที่เตรียมนำไปทิ้งทะเล

กิจกรรมเช่นนี้เสมือนว่าเคลือบด้วยน้ำตาลหวานอร่อย และเคล้าให้บุคคลจากโลกนอกเห็นภาพของความสุข แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเราจะพบว่า รอยแผลที่โรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมขนาดบิ๊กทิ้งไว้ให้ชุมชนคือวิถีชีวิตอันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สมาชิกคนหนึ่งของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลบอกผมว่า อัตราการเป็นมะเร็งของชาวบ้านในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนก "คุณไปดูสิ ข้อมูลจากโรงพยาบาลมีเป็นกอง"

ปัญหาการตั้งอยู่ของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่ผลิตพลังงานจำหน่ายผู้บริโภคในเมืองอื่น เป็นเนื้องอกเรื้อรังในสังคมทุกยุคสมัย หลายต่อหลายครั้งที่ผู้รับสารอาจหน่ายกับข่าวการประท้วงร้องเรียนเรื่อยไปจนมองว่าเรื่องเหล่านี้คือผลประโยชน์อันไม่ลงตัว

ชะรอยหากแต่จะตีเรื่องนี้ให้ฟุ้งกระจาย ก็คงรังแต่จะทำให้ขัดแย้งกันเปล่าๆ ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดในเรื่องดังกล่าว เพราะต่างฝ่ายต่างต้องกล่าวเอาประโยชน์หาตัว ทั้งฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายโรงไฟฟ้าเอง อีกทั้งก็มิได้ติดตามงานวิจัยที่(อาจจะ)นำเสนอไว้บ้างแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ด้วยสายตาของผมเองคือ ความเดือดร้อนที่สุมในทรวงชาวบ้านอยู่เงียบๆ

"หาประโยชน์ใดไม่ไ่ด้เลย" สำเนียงทองแดงของสมาชิกท่านนั้นบอกกับผม เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เขาได้รับจากการมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในชุมชน คำสั้นๆแบบฉบับปักษ์ใต้ที่ขยายความได้ชัดเจนนี้ ทำเอาผมขนลุก เราอาจไม่ได้เห็นภาพการประท้วงถึงเลือดเนื้อเช่นในแถบอื่น แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้นผมเห็นความขุ่นใจแบบจางๆ

แม้ว่ามาตรฐานISO มาตรฐาน IEA หรือมาตรฐานใดๆ จะพยายามบ่งว่า แหล่งอุตสาหกรรมตัวนี้ ไม่ก่อมลพิษในระดับอันตราย (ก่อมลพิษ แต่ไม่มาก) แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับกับ สิ่งที่ผู้บริโภคจริงใช้นั้นช่างต่างกันมาก
เด็กๆดีใจ ไม่ต้องไปโรงเรียน

งานมวลชนสัมพันธ์คืองานยักษ์ที่โรงไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ องค์ความรู้หลายหลากที่พวกเขานำมาแพร่ให้หมู่บ้าน ก็เป็นเรื่องที่ไม่เลวนัก อย่างโครงการฟื้นฟูปะการัง โครงการธนาคารปูม้า ฯลฯ ซึ่งแม้จะทดแทนกับสิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ได้ แต่ก็ยังดีที่ได้เห็นภาพการทำอะไรบางอย่าง

หน้าที่ของโรงไฟฟ้าคือผลิตไฟฟ้าและสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในประเทศ เมื่อใดที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ก็มักจะได้ยินข่าวความเดือดร้อนของชุมชนนั้นๆเสมอ (ต้องยอมรับว่าตอนนี้การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆลดลง และบทบาทของพลังงานทดแทนกำลังมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการพลังงานยุคใหม่) แต่กระนั้นก็ดี นั่นเพราะว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ความต้องการใช้ไฟฟ้าเขาพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า โดยอิงจากอัตราเติบโตจากเศรษฐกิจหรือจีดีพี) ก็เลยต้องมีการจัดหาพลังงานมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามไปด้วย

แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน (ผลักภาระด้านมลพิษ) แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่เราต้องผลิตเอง อย่างตอนนี้ที่ผมเห็นชัดๆคือโรงไฟฟ้าที่พระนครเหนือ ซึ่งกำลังสร้างกันอยู่ ผมเองก็อยากรู้ว่าการมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในเขตเมือง จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขณะที่ผมกำลังพิมพ์บล็อกนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผมใช้ อาจผลิตจากที่ริมทะเลแห่งนี้ก็ได้ แน่นอนว่าไอเสีย หรือมลพิษที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบกัึบชาวบ้านแถบนี้ไปด้วยพร้อมๆกัน

นั่นแสดงว่าผมเองก็มีส่วนทำให้พวกเขาเป็นมะเร็งล่ะสิ!

นอกจากผมแล้ว ใครบ้างที่ทำให้พวกเขาเป็นมะเร็งกันอีก

ภาพจาก LC-A+KODAK E100VS EXPIRED

29 มิถุนายน 2552

บ่อเหล็กน้ำพี้

ชาวบ้านกำลังสาธิตการทำลูกปะคำโดยผสมแร่เหล็กน้ำพี้ลงในดิน

รั้งหนึ่ง ผมมีโอกาสไปทำงานที่อุตรดิตถ์ ตอนนั้นทางจังหวัดกำลังประชาสัมพันธ์และโฆษณาจังหวัด ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของประเทศ

หนึ่งในโปรแกรมที่ทางจังหวัดต้องการนำเสนออย่างยิ่ง คือบ่อเหล็กน้ำพี้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งแร่เหล็กที่ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ดีถึงขั้นว่าเป็นแหล่งต้นทางวัตถุดิบของมหาศาสตราของกษัตริย์ในสมัยโบราณ

กลวิธีส่งเสริมการท่องเที่ยวของที่นี่ คือการนำแม่เหล็กมาผูกติดกับเชือกและไม้ไผ่เป็นคันเบ็ด จากนั้นจึงให้นักท่องเที่ยวหย่อนลงไปในบ่อ เพื่อดูดเอาหินเล็กหินน้อยที่มีแร่เหล็กกลับบ้านเป็นที่ระลึก

นอกนั้นก็เป็นการสาธิตทำลูกประคำ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจบด้วยซื้อของที่ระลึกกลับบ้าน

ขณะที่เราเข้าใจกันไปตามข้อมูลประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ทว่าข้อเท็จจริงคือทุกวันนี้แร่เหล็กในบ่อนั้นแทบจะหมดเกลี้ยงแล้ว เหลือก็แต่เพียงแร่บางๆที่ฝังตัวในเนื้อหินเล็กๆ พอๆกับลูกอมฮอลล์

จากการสอบถามชาวบ้าน ได้ความว่า ในสมัยก่อน พื้นที่ย่านนั้นแห้งแล้งและกันดารมาก การตีและถลุงเหล็กต้องไปทำกันไกลในแหล่งที่มีน้ำ ตามห้วยหรือบ่อเล็กๆ เมื่อถลุงและตีจนได้สิ่งที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ตามพื้นคือขี้ตะกรัน อันเป็นเหมือนกากของเหลือจากแร่เหล็ก

นากจากขี้ตะกรันที่ทิ้งกองไว้มหาศาลแล้ว ยังมีขี้ตะกรันที่ตกหล่นระหว่างทางการขนส่งอีกมาก

ในอดีตนั้น ไม่มีใครเขาเอาหรอกครับขี้ตะกรัน เพราะแร่เหล็กยังมีอยู่มาก และเหลือเฟือพอจะถลุงเอาไปใช้ได้อีกหลายสิบปี แต่ทุกวันนี้แร่เหล็กนั้นร่อยหรอลงไปมาก ดังนั้นเจ้าขี้ตะกรันถึงได้มีค่าขึ้นมา

ทราบไหมครับว่ามีดดาบที่ขายในร้านขายของที่ระลึก เป็นมีดที่ตีจากขี้ตะกรัน ไม่ได้ตีจากแร่เหล็กอย่างที่เราเชื่อกัน แต่หากต้องการงานจากแร่เหล็ก ต้องสั่งทำ และก็จะมีราคาสูงมาก

ซ้ำเมื่อผมถามชาวบ้านว่า เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านพวกเขา ผลิตใช้กันเองหรือเปล่า คำตอบคือในอดีตน่ะใช่ แต่ทุกวันนี้พวกเขาก็ซื้อมีดตะหลิวตะบวยจากตลาดนัดเหมือนกับเราๆ ส่วนมีดดาบน้ำพี้ของเก่าในบ้านนั้นเล่า ก็ขายเอาเงินหรือไม่ก็ถลุงซ้ำมาขายนักท่องเที่ยวกันหมดแล้ว

ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกโดนตุ๋นข้อมูลแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่านี่คือความจริงของแหล่งทรัพยากรที่มีวันหมด ไม่ต่างอะไรกับพลอยหรือทับทิมทางภาคตะวันออก ที่วันหนึ่งก็ถูกขุดพลิกจนเหี้ยนหาย ไม่ต่างอะไรกับบ่อน้ำมันก๊าซธรรมชาติที่วันหนึ่งก็ต้องลดน้อยถอยผลิต มันเป็นธรรมดาของโลกครับ

โลกที่มีมนุษย์อยู่

นายก อบต.กำลังสาธยายความขลังของเหล็กน้ำพี้ ชาวบ้านปรบมือให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมถึงหมู่บ้าน และนักข่าวคอลัมนิสต์สายท่องเที่ยวหลายคนกำลังบันเทิงกับการตกแร่เหล็กเพื่อเอากลับไปเป็นที่ระลึก

ส่วนผมกินไอศครีมดับร้อนและรอขึ้นรถกลับบ้าน